การอนุรักษ์ธรรมชาติ
พวกเราเป็นศูนย์ดำน้ำแห่งเดียวบนเกาะลันตาที่ได้รับรางวัล PADI Green Star Award
การอนุรักษ์ธรรมชาติ
เราอาจรู้สึกว่าการรักษ์โลกเป็นเรื่องยาก อาจมีทางเลือกไม่มากหรือยากเกินไป ทำให้เรารู้สึกว่าการกระทำของเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้และไม่มีค่ามากพอ แต่พวกเราทีม ฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่ง เชื่อว่า หากลงมือทำทีละเล็กละน้อย เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้
เราพยายามทำในสิ่งที่เราทำได้อย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเราสนับสนุนให้ลูกค้าของเราได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าวด้วย
เครื่องดื่ม
เราเห็นขยะมากมายมาจากเรือที่พานักดำน้ำมา ทั้งที่เรื่องแบบนี้ไม่สมควรเกิดขึ้น เราเลยตัดสินใจใช้นโยบายลดขยะ เราไม่นำขวดน้ำพลาสติกขึ้นเรือ แต่เราซื้อน้ำขวดใหญ่ที่รีไซเคิลได้แล้วเทใส่ตู้กดน้ำที่ใช้ซ้ำได้แทน เราเตรียมแก้วสำหรับกดน้ำไว้ให้ทุกคนและเตรียมน้ำอัดลมไว้ในขวดขนาดใหญ่แทนการดื่มแบบกระป๋อง เราประเมินแล้วว่าในแต่ละฤดูเราสามารถลดขวดพลาสติกและกระป๋องได้ถึง 12,000 ชิ้น หากมีขยะที่เกิดขึ้นด้วยความจำเป็น เราจะนำขยะนั้นไปรีไซเคิลบนเกาะต่อไป
พลังงาน
เราเลือกใช้หลอดไฟประหยัดพลังงานในศูนย์ดำน้ำ เรารณรงค์ให้พนักงานและลูกค้าของเราเปิดไฟ พัดลมและเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อจำเป็น และปิดเมื่อไม่ใช้งาน แม้ศูนย์ดำน้ำของเราจะไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีแต่พัดลม แต่เรามีท่าเรือที่ทอดยาวสู่ทะเล เราอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองไปนั่งรับลมทะเลสุดสดชื่น!
น้ำ
เราต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ดำน้ำทุกครั้งหลังใช้งานเพื่อเอาเกลือออก หลังจากนั้นเราจะเอาน้ำที่ใช้ทำความสะอาดไปใช้ในห้องน้ำต่อ เรามีโถสุขภัณฑ์สไตล์ตะวันตกและสนับสนุนให้ลูกค้าใช้น้ำรีไซเคิลสำหรับกดชักโครก แบบไทยๆ และเรายังเก็บน้ำฝนไว้ใช้ภายในศูนย์ และมีจุดอาบน้ำเย็นสองจุดไว้ให้บริการ
เรือ
ความตั้งใจแรกของเราคือ การใช้เครื่องยนต์สี่จังหวะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้เราตัดสินใจใช้เครื่องยนต์สองจังหวะแต่บำรุงรักษาให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างสมดุลอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ใช้น้ำมันจนเกินไป นอกจากนี้เรายังใช้เครื่องยนต์โดยตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน เราไม่เร่งเครื่องยนต์จนเกินควรซึ่งจะทำให้เกิดมลภาวะทั้งทางเสียงและอากาศ แม้จะแล่นเรือด้วยความเร็วที่ลดลง แต่นักดำน้ำทุกคนจะยังคงไปถึงจุดดำน้ำได้ภายใน 35 นาที นอกจากนี้เรายังมีฝักบัวบนเรือสำหรับการล้างตัวเพื่อลดการใช้น้ำอีกด้วย
ศูนย์ดำน้ำ
เราสร้างศูนย์ดำน้ำโดยใช้ฝีมือช่างท้องถิ่นและเลือกใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เราใช้ไม้จากท่าเรือเก่าเพื่อลดการใช้ไม้ใหม่ วัสดุเหลือใช้ต่างๆของเราถูกแจกจ่ายไปยังชุมชนเพื่อให้พวกเขานำไปใช้ต่อ เราเชื่อว่าวัสดุเหล่านี้ยังสามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้อีก! แม้จะหาวัสดุรักษ์โลกบนเกาะได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเกาะในประเทศไทย แต่เราพยายามใช้ถุงที่ย่อยสลายง่ายและใช้ถุงซ้ำ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและกระดาษ นโยบายลดกระดาษของเราคือ การพยายามดำเนินการในระบบออนไลน์แทนการใช้กระดาษให้ได้มากที่สุด รวมทั้งช่วยกันลดเอกสารและการส่งไปรษณีย์ทางอากาศด้วย
เราภูมิใจที่ได้เป็นศูนย์ดำน้ำแห่งเดียวบนเกาะลันตาที่ได้รับรางวัล PADI Green Star Award ในฐานะธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม PADI ได้ระบุไว้ว่า “รางวัล Green Star Award ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจของท่านเป็นธุรกิจหนึ่งที่คำนึงถึงและลงมือเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รางวัลนี้ไป ท่านแสดงให้ลูกค้าทุกคนของท่านทราบว่าท่านใส่ใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” พวกเราดีใจที่ได้เป็นผู้นำการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น และภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
รางวัล PADI Green Star Award
projectaware.org/greenstaraward
Project AWARE® เป็นการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติด้านการอนุรักษ์ท้องทะเล เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักผจญภัยทั่วโลก เราผสานความหลงใหลในการผจญภัยใต้ท้องทะเลและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเข้าด้วยกัน เราลงมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ ทั้งในทะเลและชุมชนที่ต้องพึ่งพาทะเล การเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น เช่น การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และการลดมลพิษทางทะเล เรามีความสุขที่ได้ร่วมมือกันเพื่อรักษาทะเลให้สะอาดและสมบูรณ์! Project AWARE® คือ การรวมตัวกันของผู้มีใจรักในท้องทะเลจากทั่วโลกที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อปกป้องทะเล เปลี่ยนแปลงนโยบายและทำให้เกิดชุมชนอาสาสมัครระดับโลกเพื่ออนุรักษ์ทะเล ด้วยความรักและตระหนักในคุณค่าของโลกใต้ท้องทะเล วัตถุประสงค์ของเราคือ การทำงานกับคุณในฐานะผู้นำการดำน้ำและนักอนุรักษ์ทะเลทั่วโลก เพื่อดูแลรักษาทะเลให้ดีที่สุดและเอาชนะปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
Project Aware
projectaware.org
เราเชื่อว่านักดำน้ำมีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในขณะดำน้ำ และจากการตัดสินใจว่าจะดำน้ำกับใคร เราสนับสนุนให้นักดำนี้ทำตามข้อปฏิบัติการดำน้ำที่ดีของ Green Fins ซึ่งเราจะบรรยายสรุปก่อนดำน้ำเพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงวิธีดำน้ำที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด พันธกิจของ Green Fins ปกป้องและอนุรักษ์แนวปะการังด้วยการสร้างและใช้แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำที่ยั่งยืน การบรรยายสรุปก่อนดำน้ำของเรามีแนวทางการดำน้ำของ Green Fins เป็นพื้นฐานและการย้ำเตือนถึงมารยาทในการดำน้ำ คุณสามารถศึกษาเอกสารเหล่านี้ได้ที่ศูนย์ดำน้ำและบนเรือ ก่อนดำน้ำทุกครั้งจะมีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ผลกระทบที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ต่อแนวปะการัง เรายังเน้นย้ำนักดำน้ำเรื่องการฝึกลอยตัวอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ‘งดแตะต้องปะการัง’ อีกด้วย เราเข้าร่วมทั้งการบรรยายและการฝึกกับ Green Fins เพื่ออัปเดตการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลเกี่ยวกับปะการังและวิธีการสำรวจ ตอนต้นของแต่ละฤดู เรามีการบันทึกสถานภาพปะการังหรือที่เรียกว่า Reef Watch ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์ต่อที่ Green Fins นอกจากนี้เรายังรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจแนวปะการังที่เกาะห้าทุกเดือน เราคอยจับตาดูความสมบูรณ์ของปะการังและรายงานไปยัง Green Fins หากคุณดำน้ำกับเรา คุณสามารถประเมินแนวปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมของเราได้ด้วยการกรอกแบบฟอร์มการประเมินตนเองกับ Green Fins
Green Fins
greenfins.net
เราเข้าร่วมองค์กรการกุศลเพื่อปกป้องปลาฉลาม Shark Guardian charity ตั้งแต่ฤดูกาลแรก องค์กรดังกล่าวจัดตั้งขึ้นในปี 2552 โดยผู้อำนวยการด้านหลักสูตร เบรนดอน ซิง (Brendan Sing) และภรรยาของเขา ลิซ วาร์ด-ซิง (Liz Ward-Sing) ที่เป็นครูสอนดำน้ำของ PADI โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาฉลามทั่วโลก รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาทักษะเพื่อนำไปใช้ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะด้านการอนุรักษ์พันธุ์ปลาฉลามทั่วโลก ผ่านการศึกษา อนุรักษ์ ส่งเสริมงานวิจัยและโครงการเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เบรนดอนและลิซเดินทางไปบรรยายทั่วโลกเพื่อให้ความรู้เรื่องความสำคัญของปลาฉลามในระบบนิเวศทางทะเล ทั้งคู่ได้สื่อสารเรื่องการอนุรักษ์ปลาฉลามไปยังผู้คนกว่าสองหมื่นคน นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับโรงเรียนมากมาย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่ควรให้ความรู้เกี่ยวกับปลาฉลามกับคนรุ่นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการล่าหูฉลาม ฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่งภูมิใจที่ได้เป็นศูนย์ดำน้ำพิทักษ์ปลาฉลามแห่งแรกในปี 2555 นอกจากนี้ เรายังมอบเงินจากการจำหน่ายสินค้าในศูนย์ให้แก่องค์กรพิทักษ์ปลาฉลามอีกด้วย
องค์กรพิทักษ์ปลาฉลาม Shark Guardian
sharkguardian.org
โครงการตามหาปลาฉลามเสือดาวดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย โดยร่วมมือกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน (Phuket Marine Biological Centre) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและจำแนกปลาฉลามเสือดาวให้ได้มากที่สุดเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุเกี่ยวกับ: “ความอุดมสมบูรณ์และลักษณะประชากร การเคลื่อนย้ายและช่วงชีวิตของปลาฉลามเสือดาว” * ปลาฉลามที่เราเรียกว่าปลาฉลามเสือดาวหรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Leopard shark แท้จริงแล้วมันคือ Zebra shark มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stegostoma fasciatum ซึ่งเป็นคนละสปีชีส์กับ Leopard shark ที่พบในบริเวณแปซิฟิกตะวันออก ปลาฉลามเสือดาวในวัยเด็กจะมีลายทางเหมือนม้าลาย จึงมีชื่อเรียกว่า Zebra shark แต่เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นลายจุด จึงเรียกว่าปลาฉลามเสือดาว ปลาฉลามเสือดาวเป็นสัตว์ไม่ดุร้าย พวกมันมักจะนอนนิ่งๆอยู่บนผืนทรายใต้ทะเล เนื่องจากเป็นสัตว์ที่หากินเวลากลางคืน จึงไม่ค่อยเคลื่อนที่มากนักในเวลากลางวัน ปลาฉลามเสือดาวจัดเป็นปลาฉลามขนาดใหญ่ที่สุดที่ออกลูกเป็นไข่ โดยลำตัวสามารถยาวได้ถึง 2.5 เมตร * โครงการตามหาปลาฉลามเสือดาวใช้การถ่ายรูปเพื่อจำแนกลักษณะเฉพาะของปลาแต่ละตัว ซึ่งจะมีลายที่แตกต่างกันไป รูปถ่ายที่ใช้ได้จะต้องเป็นรูปที่ถ่ายทั้งด้านซ้ายและขวาของตัวปลาฉลามเพื่อให้เห็นลายบนตัวได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้หากเป็นไปได้ ควรระบุเพศของปลาฉลามเสือดาวที่พบด้วย รูปถ่ายสามารถอัปโหลดไปที่เพจเฟสบุ๊คของโครงการได้โดยตรง พร้อมระบุข้อความเกี่ยวกับพื้นที่ สถานที่พบ และความลึกที่พบปลาฉลาม โครงการตามหาปลาฉลามเสือดาวริเริ่มโดย ดร.คริส ดัดเจี้ยน (Dr. Chris Dudgeon) ซึ่งใช้วิธีการดังกล่าวติดตามปลาฉลามเสือดาวในควีนส์แลนด์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อพึงปฏิบัติของนักดำน้ำเมื่อพบปลาฉลาม · ว่ายเข้าหาอย่างช้าๆ พร้อมทั้งควบคุมการลอยตัวให้นิ่งอยู่เสมอ · ให้เข้าหาทางหางของปลาฉลามเสมอ ห้ามเข้าหาปลาฉลามทางหัวโดยเด็ดขาด · ระมัดระวังปะการังและไม่ทำให้ปะการังเสียหาย · ห้ามเข้าใกล้ปลาฉลามเกิน 3 เมตร · ว่ายรอบๆหางปลาฉลาม · ห้ามใช้แฟลชในการถ่ายรูป · ห้ามกีดขวางเส้นทางของปลาฉลาม และหลีกเลี่ยงบริเวณหัวของปลาฉลาม · ห้ามสัมผัส ขี่ หรือจับปลาฉลาม
โครงการตามหาปลาฉลามเสือดาว Spot the Leopard Shark
spottheleopardshark
ภารกิจของ Trash Hero คือ การรวมตัวกันเพื่อช่วยกันทำความสะอาดและลดขยะ ฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่งภูมิใจมากที่ได้สนับสนุนทีม Trash Hero ให้ทำกิจกรรมและช่วยจำหน่ายสินค้าของ Trash Hero ในมุมหนึ่งของร้านเรา พวกเขาทำกิจกรรมผ่านหลักการเหล่านี้ ตระหนักและลงมือทำ: เราจะเก็บขยะเสมอ ไม่ว่าจะเป็นก้นบุหรี่บนหาดทรายหรือก้นบุหรี่ที่อยู่ห่างออกไป 2,000 กิโลเมตรจากชายฝั่งก็ตาม เมื่อใดที่เราเห็นขยะ เราจะลงมือเก็บทันที! นอกจากการเก็บขยะด้วยตัวเองแล้ว เรายังผลักดันให้ผู้อื่นทำเช่นกัน หลังจากได้ใช้เวลาเก็บขยะด้วยกัน 2-3 ชั่วโมง ผู้เข้าร่วมจะได้เข้าใจถึงผลเสียของขยะที่ถูกทิ้งอย่างมักง่ายจากประสบการณ์ตรงมากขึ้น ให้ความรู้: Trash Hero มีโครงการหลายภาษาสำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆได้เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมผ่านประสบการณ์จริง เด็กๆจะได้เข้าใจผลกระทบของขยะที่มีต่อท้องถิ่นและต่อโลก นอกจากนี้ Trash Hero ยังมีข้อมูลและกิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่ที่สนใจเข้าร่วมเรียนรู้อีกด้วย โครงการเพื่อความยั่งยืน: สร้างสรรค์โครงการระยะยาวเพื่อช่วยเหลือชุมชนในด้านการลดและจัดการขยะ รวมไปถึงสร้างกลยุทธ์เพื่อลดขยะในอนาคต สร้างแรงบันดาลใจ: กระตุ้นให้ทุกคนเป็น Trash Hero ได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการสื่อสารเชิงบวกอย่างต่อเนื่องและคติประจำใจว่า ‘ทีละเล็กทีละน้อย’ ทุกคนจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคแห่งการเปลี่ยนแปลงและจะได้เป็นฮีโร่นักเก็บขยะทั่วโลกต่อไป Trash Hero ต้องปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้: · มองโลกในแง่บวก: สนใจวิธีแก้ปัญหา (ไม่ใช่ที่ปัญหา) มุ่งเน้นอนาคต (ไม่ใช่อดีต) ให้ความสำคัญกับสิ่งดีๆที่เกิดขึ้น (แทนความผิดพลาดหรือการตำหนิผู้อื่น) · ครอบคลุมและเป็นกลาง: Trash Hero ทำงานโดยไม่ขึ้นตรงกับใคร เรารวมใจคนในชุมชนเพื่อพิชิตหนึ่งภารกิจซึ่งมีประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง · แสดงออกด้วยการกระทำแทนคำพูดและทำซ้ำ: เรียนรู้จากตัวอย่างและเริ่มลงมือทำทีละเล็กละน้อยเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ การทำเป็นประจำสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ · คิดถึงโลก ขับเคลื่อนในท้องถิ่น: หัวใจสำคัญของ Trash Hero คือการทำงานกับท้องถิ่น เครือข่าย Trash Hero World จะให้การอบรม สนับสนุนและช่วยจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น ส่วนในการปฏิบัติจะเป็นการลงมือทำในท้องถิ่นซึ่งขับเคลื่อนโดยชุมชน · โปร่งใส: กลุ่มที่ทำงานเพื่อท้องถิ่นทำกิจกรรมโดยไม่หวังผลตอบแทน โครงการทั้งหมดดำเนินการโดยอาสาสมัครและได้รับการสนับสนุน (อุปกรณ์และความช่วยเหลือต่างๆ) จากผู้สนับสนุนท้องถิ่น นอกจากนี้ ทางโครงการจะแสดงจำนวนเงินที่ได้รับจากการจัดจำหน่ายสินค้าของโครงการต่อสาธารณะเสมอ และเราเชื่อเสมอว่า ทุกคนสามารถเป็น Trash Hero ได้
ฮีโร่ผู้ช่วยเก็บขยะ Trash Hero
trashhero.org
โครงการอนุรักษ์ปลากระเบนแมนต้าในประเทศไทย หรือ Thailand Manta Project ทำงานวิจัยหลากหลายแง่มุมเพื่อศึกษาประชากรปลากระเบนแมนต้าในประเทศไทยและปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อปลากระเบนแมนต้า มีการใช้ภาพถ่ายและการสังเกตการณ์ภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลลักษณะของปลากระเบนแมนต้าเพื่อติดตามการแพร่กระจายของปลากระเบนแมนต้าในน่านน้ำไทย ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้สามารถประเมินขนาดประชากร ลักษณะพฤติกรรม การเคลื่อนย้าย การสืบประวัติ และการระบุพื้นที่ที่จำเป็นต่อการรักษาพันธุ์ปลากระเบนแมนต้าได้ เราทำงานใกล้ชิดทั้งกับชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจ และรัฐบาลไทยเพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อประโยชน์ทั้งทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการอนุรักษ์ปลากระเบนแมนต้าและถิ่นที่อยู่ของพวกมัน นอกจากนี้การวิจัยของโครงการยังให้ความสำคัญกับการสำรวจการทำประมงปลากระเบนแมนต้าในไทย โดยร่วมมือกับกรมประมงเพื่อติดตามผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว วัตถุประสงค์เบื้องต้นของโครงการคือ การสร้างคุณค่าให้กับปลากระเบนแมนต้าที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไป ฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่งยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการ โดยเรามีโปรแกรมร่วมติดตามปลากระเบนแมนต้าและยังแบ่งปันพื้นที่เล็กๆส่วนหนึ่งในศูนย์ดำน้ำเพื่อจำหน่ายสินค้าของ Thailand Manta Project อีกด้วย โปรแกรมของเรา คุณสามารถเข้าร่วมโปรแกรมติดตามปลากระเบนแมนต้ากับเราได้ฟรี เมื่อคุณเข้าร่วมทริปดำน้ำลึกที่หินแดงและหินม่วงกับฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่ง ในระหว่างการดำน้ำ หากมีการพบปลากระเบนแมนต้า เราจะถ่ายภาพใต้ท้องของกระเบนซึ่งจะมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ของกระเบนแต่ละตัว จากนั้นจึงส่งรูปถ่ายพร้อมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพและพฤติกรรมของกระเบนที่พบไปยังหน่วยงานอนุรักษ์ นอกจากนี้เรายังมีบรรยายสรุปเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของกระเบนและสนับสนุนให้นักดำน้ำของเราเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ เนื่องจากเป้าหมายของเราคือ กระตุ้นให้ทุกคนอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ ปลากระเบนแมนต้า ปลากระเบนแมนต้ามีสองสปีชีส์ ได้แก่ Manta alfredi หรือปลากระเบนแมนต้าแนวปะการัง และ Manta birostris หรือปลากระเบนแมนต้ามหาสมุทร (ในภาษาอังกฤษอาจเรียกว่า Giant Manta Ray หรือ Oceanic Manta Ray) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ในพื้นที่บริเวณเกาะลันตา ปลากระเบนแมนต้ากินแพลงก์ตอนเป็นอาหารและมีวิธีการกินหลายรูปแบบ เช่น ว่ายในห้วงน้ำและอ้าปากกินแพลงก์ตอน อยู่ที่ผิวน้ำแล้วกลืนน้ำ หรือดักกินแพลงก์ตอนที่พื้นทรายใต้ทะเล จากการสังเกตยังพบว่า ปลากระเบนแมนต้ามีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อออกหากินอีกด้วย ปลากระเบนแมนต้ามหาสมุทรมีความกว้างได้ถึง 7 เมตร หรือ 23 ฟุต มีรอยสีเข้มที่ใต้ลำตัวและจุดรอบๆท้อง หลังมีสีดำเป็นส่วนใหญ่และมีลายรูปสามเหลี่ยม นอกจากนี้ยังมีเงี่ยงแหลมโผล่ที่โคนหาง ปลากระเบนแมนต้าเป็นสัตว์ที่มีรูปแบบการปฏิสนธิแบบ Ovoviviparous ซึ่งหมายถึง ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะอาศัยอาหารจากไข่แดงเองจนคลอดออกมาเป็นตัว ปลากระเบนแมนต้าเพศเมียจะออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว และช่วงชีวิตของปลากระเบนแมนต้าน่าจะยาวนานประมาณ 50 ปี อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับพวกมันให้เราศึกษาต่อไป เราจะพบปลากระเบนแมนต้าได้ที่ไหน เรามีโอกาสเจอปลากระเบนแมนต้าได้ที่จุดดำน้ำหินแดงและหินม่วง ซึ่งเป็นผาใต้น้ำที่ลึกที่สุดในประเทศไทย โดยบริเวณนี้เปรียบเสมือนสถานีทำความสะอาดซึ่งปลากระเบนแมนต้าจะแวะเวียนมากำจัดปรสิต ฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่ง จึงจัดทริปดำน้ำลึกที่หินแดงและหินม่วงสองครั้งต่อสัปดาห์ โดยหวังว่านักดำน้ำของเราจะได้พบกับปลากระเบนแมนต้าสักครั้ง! ข้อพึงปฏิบัติของนักดำน้ำเมื่อพบปลากระเบนแมนต้า · ห้ามสัมผัส ขี่ หรือจับปลากระเบน · ห้ามขัดขวางการเคลื่อนที่หรือพฤติกรรมใดๆของปลากระเบน · พยายามอยู่นิ่งๆเพื่อให้ปลากระเบนรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้ · อยู่ห่างจากปลากระเบนอย่างน้อย 3 เมตร · ห้ามใช้แฟลชในการถ่ายรูป · ห้ามใช้ยานพาหนะเครื่องยนต์สำหรับเดินทางใต้น้ำ ปัจจัยเสี่ยงของปลากระเบนแมนต้า ภัยคุกคามสำคัญที่สุดของปลากระเบนแมนต้าคือ การโดนจับเพื่อเอาเนื้อ น้ำมันจากตับ และหนัง แต่ไม่นานมานี้ ซี่กรองของกระเบนกลายเป็นที่ต้องการเพื่อนำมาใช้ในการทำยาจีนแผนโบราณ โดยปกติแล้ว ปลากระเบนแมนต้ามักจะเป็นเหยื่อของปลาฉลามหรือวาฬเพชฌฆาต บางครั้งนักดำน้ำอาจสังเกตเห็นรอยปลาฉลามกัดบนตัวกระเบน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการระบุลักษณะเฉพาะของกระเบนได้เช่นกัน นอกจากนี้ปลากระเบนแมนต้ายังอาจว่ายไปติดกับอวนหาปลาแล้วไม่สามารถว่ายถอยหลังหรือหนีออกมาได้อีกด้วย สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ได้กำหนดให้ปลากระเบนแมนต้าอยู่ในบัญชีแดงในหมวดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งหมายความว่า Vulnerable (VU) สิ่งมีชีวิตมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ แต่ยังไม่อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากที่อยู่ตามธรรมชาติในอนาคต *ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระเบนจาก Manta Matcher และ Marine Megafauna Foundation
โครงการอนุรักษ์ปลากระเบนแมนต้า Manta Trust
mantatrust.org/thailand
เราเข้าร่วมกับ Coralwatch ซึ่งเป็นองค์กรของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลปะการัง Coralwatch มีระบบใช้งานที่เป็นมิตร สามารถนำไปใช้ได้ทั้งกับทริปดำน้ำลึกและดำน้ำตื้น เพียงนำแผนภูมิสีตัวอย่างไปเปรียบเทียบกับสีของปะการังที่พบ จากนั้นบันทึกรหัสสีที่ตรงกันและส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลออนไลน์ ระบบนี้ใช้งานง่ายมากทำให้ใช้ในทริปดำน้ำลึกหรือดำน้ำตื้นได้
การเฝ้าดูแลปะการัง Coralwatch
coralwatch.org
Project Seahorse เป็นโครงการซึ่งมุ่งสร้างเครือข่ายทั่วโลกเพื่องานด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ม้าน้ำ โดยมีโปรแกรมนำร่องที่สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์พลเมืองในการศึกษาแนวโน้มประชากรม้าน้ำ ผ่านเครื่องมือ iSeahorse ซึ่งเป็นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในงานวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ม้าน้ำได้จากทุกที่ คุณสามารถกดเข้าลิงค์หรือเลื่อนดูได้ว่าคุณสามารถแบ่งปันข้อมูลจากการสังเกตม้าน้ำ และช่วยอนุรักษ์ประชากรที่แสนเปราะบางเหล่านี้ได้อย่างไร ใครๆก็เข้าร่วมได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดำน้ำลึก ชาวประมง นักวิทยาศาสตร์ ผู้ชื่นชอบม้าน้ำ หรือคนที่กำลังพักผ่อนในวันหยุด คุณก็สามารถแบ่งปันข้อมูลม้าน้ำที่คุณพบได้เพียงแค่คลิกหรือแตะหน้าจอมือถือ เข้าไปยัง iSeahorse.org แล้วอัปโหลดรูปและข้อมูลม้าน้ำที่คุณพบเพื่อช่วยเราจำแนกม้าน้ำ นอกจากนี้คุณยังเรียนรู้ที่จะเป็นกระบอกเสียงด้านการอนุรักษ์ม้าน้ำในท้องทะเลใกล้บ้านคุณได้อีกด้วย เปลี่ยนข้อมูลของคุณให้เป็นการอนุรักษ์ นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Project Seahorse และผู้เชี่ยวชาญด้านม้าน้ำทั่วโลกจะได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของคุณเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรม ช่วงสายพันธุ์ และปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อม้าน้ำได้มากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังมีประโยชน์สำหรับรัฐบาล ผู้วางแผนนโยบายและนักรณรงค์เพื่อวางแผนเกี่ยวกับการปกป้องม้าน้ำและที่อยู่อาศัยของพวกมันต่อไป การติดตามประชากรม้าน้ำ คุณดำน้ำเป็นประจำในบริเวณที่พบม้าน้ำ หรืออาศัย หรือทำงานใกล้ท่าเรือประมงหรือเปล่า เรากำลังมองหาแนวร่วมที่จะมาช่วยติดตามประชากรม้าน้ำในธรรมชาติในระยะยาว หากคุณมีพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล การอนุรักษ์หรือการประมงจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อโครงการอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานดังกล่าวก็สามารถเข้าร่วมได้ ค้นพบความรู้ใหม่ๆทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดำน้ำลึก นักดำน้ำตื้น ช่างภาพ นักท่องเที่ยวหรือใครก็ตาม คุณสามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมืองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาเกี่ยวกับม้าน้ำได้ Project Seahorse เริ่มต้นด้วยสมาชิกไม่ถึง 20 คน แต่ปัจจุบันสามารถเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์พลเมืองได้ถึงหลักร้อยหรือพันคนทั่วโลก! ระบบเฝ้าระวังประชากรม้าน้ำระดับโลกตั้งแต่เนิ่นๆ Project Seahorse สร้างเครือข่ายการติดตามประชากรม้าน้ำทั่วโลก เครือข่ายที่กำลังเติบโตนี้พร้อมที่จะส่งเสียงเตือนหากม้าน้ำและแหล่งที่อยู่ของพวกมันกำลังถูกคุกคาม ไม่ว่าที่ใดและเมื่อไหร่ก็ตาม จากนักวิทยาศาสตร์พลเมืองสู่ ‘นักอนุรักษ์พลเมือง’ เป้าหมายสูงสุดของ Project Seahorse คือการผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์พลเมืองทุกคนก้าวเข้าสู่การเป็น ‘นักอนุรักษ์พลเมือง’ โดยการสนับสนุนทั้งข้อมูลและเครื่องมือเพื่อให้สมาชิกสามารถนำไปใช้ในการรณรงค์เกี่ยวกับประชากรม้าน้ำทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก *ข้อมูลจาก projectseahorse.org
โครงการเพื่อม้าน้ำ Project Seahorse
projectseahorse.org
เข้าร่วมโครงการติดตามปลาฉลามวาฬกับเราได้ฟรี เพียงร่วมทริปดำน้ำลึกที่หินแดงและหินม่วงกับฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่งที่มีทุกวัน หากพบปลาฉลามวาฬในระหว่างการดำน้ำ เราจะถ่ายภาพลายของปลาฉลามวาฬซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละตัว จากนั้นจึงส่งรูปถ่ายไปยังองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ต่างๆ พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพและพฤติกรรมของปลาฉลามวาฬ ฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่งมีเป้าหมายว่า จะส่งต่อความตั้งใจในการอนุรักษ์ไปยังทุกคน เราจึงมีบรรยายสรุปเกี่ยวกับลักษณะนิสัยและถิ่นที่อยู่ของปลาฉลามวาฬ พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักดำน้ำของเราได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปลาฉลามวาฬไปด้วยกัน คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ปลาฉลามได้โดยการเข้าร่วมโครงการ PADI Project Aware Shark Conservation Specialty เกี่ยวกับปลาฉลามวาฬ ปลาฉลามวาฬเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก! พวกมันกินอาหารด้วยการอ้าปากขนาดใหญ่แล้วกรองอาหารผ่านซี่กรอง ปลาฉลามวาฬสามารถโตได้ถึง 20 เมตร และหนักได้มากถึง 20 ตัน ยักษ์ใหญ่ใจดีเหล่านี้มีลายเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจำแนกฉลามวาฬแต่ละตัว แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับอายุและการแพร่พันธุ์ของปลาฉลามวาฬจะหาได้ค่อนข้างยาก แต่เราเชื่อว่าปลาฉลามวาฬสามารถมีอายุได้ถึง 60-100 ปี นอกจากนี้ปลาฉลามวาฬยังเป็นสัตว์ที่มีรูปแบบการปฏิสนธิแบบ Ovoviviparous ซึ่งหมายถึงไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะอาศัยอาหารจากไข่แดงเองจนคลอดออกมาเป็นตัว ปลาฉลามวาฬตั้งครรภ์ตัวหนึ่งเคยถูกจับได้ที่ไต้หวัน และพบว่ากำลังตั้งครรภ์ตัวอ่อนถึง 300 ตัว อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่ออธิบายเกี่ยวกับลักษณะการขยายพันธุ์ของปลาฉลามวาฬต่อไป เราจะพบปลาฉลามวาฬได้ที่ไหน ฮินเดน เดปส์ ไดวิ่งจัดทริปดำน้ำลึกที่หินแดงและหินม่วงสองครั้งต่อสัปดาห์ โดยหวังว่านักดำน้ำของเราจะมีโอกาสพบปลาฉลามวาฬ ในบริเวณนี้มีความลึกประมาณ 70-80 เมตร และกระแสน้ำจะพัดเอาอาหารขึ้นมาบนผิวน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ปลาฉลามวาฬจะมากินแพลงก์ตอน แม้ว่าการเดินทางของปลาฉลามวาฬจะเป็นเรื่องที่ยังต้องศึกษาอีกมาก แต่เราพยายามติดตามปลาฉลามวาฬที่เราพบด้วยการถ่ายภาพและให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้พวกเขาได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกมัน ข้อพึงปฏิบัติของนักดำน้ำเมื่อพบปลาฉลามวาฬ เรามีบรรยายสรุปเพื่อเน้นย้ำวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่ออยู่ใต้น้ำให้แก่นักดำน้ำของเราเสมอ นอกจากนี้เรายังมีคำแนะนำพิเศษเมื่อดำน้ำกับปลาฉลามวาฬให้อีกด้วย หากคุณพบปลาฉลามวาฬขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ · ห้ามสัมผัส ขี่ หรือจับปลาฉลามวาฬ · ห้ามขัดขวางการเคลื่อนที่หรือพฤติกรรมใดๆของปลาฉลามวาฬ · อยู่ห่างจากปลาฉลามวาฬอย่างน้อย 3 เมตร · ห้ามใช้แฟลชในการถ่ายรูป · ห้ามใช้ยานพาหนะเครื่องยนต์สำหรับเดินทางใต้น้ำ ปัจจัยเสี่ยงของปลาฉลามวาฬ แม้ปลาฉลามวาฬจะไม่เคยทำร้ายมนุษย์ แต่เรื่องตลกร้ายคือ สิ่งที่อันตรายต่อปลาฉลามวาฬมากที่สุดกลับเป็นมนุษย์เอง ซึ่งสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ได้จัดให้ปลาฉลามวาฬเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธ์จากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ซึ่งจากเดิมเคยอยู่ในหมวดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ องค์กรที่เราร่วมงานด้วย เราทำงานร่วมกับองค์กรที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปลาฉลามวาฬที่พบ เนื่องจากปลาฉลามวาฬมีถิ่นที่อยู่เป็นบริเวณกว้างมาก ทำให้ยากต่อการติดตามจำนวน ดังนั้นข้อมูลจากการพบปลาฉลามวาฬแต่ละครั้งจะช่วยต่อเติมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อปลาฉลามวาฬได้มาก องค์กรที่เราร่วมงานด้วย ได้แก่ Wildbook for Whale Sharks – www.whaleshark.org เป็นคลังภาพถ่ายปลาฉลามวาฬ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กร Marine Megafauna Foundation โดยในฐานข้อมูลมีภาพถ่ายปลาฉลามวาฬมากถึง 43,000 รูป จากการพบปลาฉลามวาฬกว่า 20,000 ครั้ง ข้อมูลทั้งหมดขององค์กรมีส่วนช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปลาฉลามวาฬได้อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อการจัดการอนุรักษ์อีกด้วย เมื่อคุณมาดำน้ำกับฮิดเดน เดปส์ ไดวิ่ง คุณจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันความรู้กับชุมชนวิทยาศาสตร์ และยังได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงนโยบาย งานวิจัยและการจำแนกลักษณะเฉพาะของปลาฉลามวาฬในอนาคตอีกด้วย Whale Shark Project – www.whalesharkproject.org ดำเนินการโดยองค์กร The Shark Trust และ Project Aware มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักดำน้ำทั่วโลกช่วยกันบันทึกข้อมูลที่พบเห็น เพื่อขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรม ประชากรและชีววิทยาของปลาฉลามวาฬ
โครงการติดตามปลาฉลามวาฬ